วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดนครสวรรค์

ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปีวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอโกรกพระ จะมีงานปิดทองไหว้พระและร่วมกันจัดให้มีการแข่งเรือยาวขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเกาะหงษ์
ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ การแข่งเรือจะสนุกสนานและครึกครื้นด้วยเสียงเชียร์ของกองเชียร์ต่างๆ เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีและความสามารถของฝีพายที่นำเรือเข้าแข่งขัน เรือที่เข้าแข่งจะมีความยาวประมาณ 30 เมตร ระยะทางในการแข่งขัน ประมาณ 500 - 600 เมตร จำนวนฝีพาย 30 - 50 คน ลักษณะของเรือ ส่วนมากจะมีผ้าแพรสีต่างๆ และพวงมาลัยคล้องไว้ที่หัวเรือ ในขณะที่เรือได้ลงทำการแข่งขันอยู่นั้นก็จะได้มีการร้องเพลงพื้นบ้าน เพื่อเป็นการให้กำลังใจฝีพาย ที่ลงทำการแข่งขัน
ความสำคัญของประเพณีแข่งเรือคือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสงานแข่งเรือ ซึ่งเป็นงานประจำปีปิดทองไหว้พระของเขาบวชนาค (วัดจอมคีรีนาคพรต) ช่วงเดือน ๑๑ โดยขบวนเสด็จประพาสต้นขาล่อง ในพระราชหัตเลขาทรงกล่าวว่า จอดที่หน้าวัดเขา ซึ่งราษฎรมาประชุมกันอยู่ที่นั้น น้ำท่วมสะพานหมดไม่มีที่ยืนต้องจอดเรืออยู่ แต่ราษฎรแข่งเรือกันสนุกสนานมาก การแข่งเรือที่นี้ มาแต่เช้าแข่งเรือกันทอดหนึ่งแล้วขึ้นไหว้พระ แล้วกลับลงมาแข่งเรืออีก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง จึงสรุปได้ว่าประเพณีการแข่งเรือจังหวัดนครสวรรค์ นั้นมีความสำคัญยิ่ง ประเพณีหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่สืบไป
ปัจจุบันการแข่งเรือได้พัฒนา คือมีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สนามแข่งเรือริมน้ำหน้าศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้มีเรือสมัครเข้าทำการแข่งขันเป็นจำนวนมาก มาจากหลายจังหวัดในปี ๒๕๔๘ จังหวัดกำหนดให้มีการแข่งขันเรือตะเข้ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นมา ซึ่งเรือตะเข้นี้จะแข่งกันในเวลากลางคืน นับเป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งเรือตะเข้ เพื่อชิงเงินรางวัลกันในสนามเดียวกันนี้ซึ่งเกิดความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น คนชมมากขึ้น นอกจากนี้ในเงินประเพณีแข่งเรือยังมีงานแสดงมหกรรมสินค้า และมีสวนสนุก ฯลฯ ให้เที่ยวชมกันอีกด้วยสร้างความสนุกเพลิดเพลิน และยิ่งใหญ่ของงาน ส่วนในวันตัดสินการแข่งขันเรือ จะทำการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เป็นประจำทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น